PHTML Encoder เป็นโปรแกรมเข้ารหัสประเภทแชร์แวร์ที่ถูกพัฒนาโดย RSSoftware Lab โดยรองรับขั้นตอนวิธีการเข้ารหัสหลากประเภท โปรแกรมนี้ถูกเขียนขึ้นสำหรับทำงานทั้งบนระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ วินโดวส์ และลินุกซ์
PHTML Encoder ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการเข้ารหัสพีเอชพีสคริปต์ก่อนที่จะทำการแจกจ่ายออกไป เพื่อไม่ให้ผู้อื่นทราบตรรกะของผู้พัฒนาได้ ทั้งยังสามารถกำหนดให้สคริปต์ที่ถูกเข้ารหัสทำงานเฉพาะบนเครื่องใดเครื่องหนึ่ง เพื่อให้สคริปต์ดังกล่าวทำงานได้เฉพาะบนเครื่องของผู้พัฒนาได้ โปรแกรมสามารถทำงานได้บนทุกแพลตฟอร์มที่รองรับการทำงานของภาษาพีเอชพี และยังมีส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ทั้งแบบกราฟิก และ command-line อีกด้วย
นอกเหนือไปจากตัวโปรแกรมแล้ว ทาง RSSoftware Lab ยังมีการขายซอร์สโค้ดของโปรแกรมพร้อมสิทธิ์ในการปรับแก้อีกด้วย นี่แตกต่างจากโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ตรงที่ไม่อนุญาตให้มีการแจกจ่ายซอร์สโค้ดของโปรแกรมต่อ และผู้ใช้ต้องซื้อตัวซอร์สโค้ดจากทางบริษัท แทนที่จะเป็นการแจกจ่ายเสรี
PHTML Encoder จะทำการเข้ารหัสพีเอชพีสคริปต์บนเครื่องแม่ข่ายด้วยขั้นตอนวิธีการเข้ารหัสที่ผู้ใช้เลือกไว้ แต่เครื่องแม่ข่ายยังคงสามารถประมวลผลสคริปต์ดังกล่าวได้ปกติ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจว่าสคริปต์ของตนจะไม่ถูกนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
เมื่อมีเครื่องลูกข่ายเชื่อมต่อเข้ามายังเครื่องแม่ข่ายเว็บ เครื่องแม่ข่ายจะทำการค้นหาไฟล์พีเอชพีสคริปต์แล้วส่งไปให้ PHP preprocessor ตามปกติ ทั้งนี้หากเราได้ทำการติดตั้งไลบรารีของโปรแกรมเอาไว้แล้ว PHP preprocessor จะสามารถทำความเข้าใจสคริปต์ที่ถูกเข้ารหัสไว้ได้เสมือนว่ามันไม่ได้ถูกเข้ารหัส PHP preprocessor จะทำการประมวลผลเปลี่ยนสคริปต์นั้นเป็นHTML แล้วส่งเป็นเว็บเพจกลับไปยังเครื่องลูกข่ายอีกครั้ง
PHTML Encoder สามารถใช้ขั้นตอนวิธีในการเข้ารหัสดังต่อไปนี้ได้ 3-WAY, AES (Rijndael) , Blowfish, CAST-128, CAST-256, DESX (DES-XEX3) , Diamond2, GOST, IDEA, MARS, RC2, RC5, RC6, SAFER, Serpent, SHARK, Skipjack,Square, TEA, Triple DES,Twofish ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม PHTML Encoder ที่จำหน่ายเสรีนั้นมีข้อเสียอยู่นั่นคือการที่ผู้ใช้ไม่สามารถเลือกคีย์หรือขั้นตอนวิธีด้วยตัวเองได้หากไม่ใช้เวอร์ชัน PRO (ซึ่งต้องซื้อจากผู้พัฒนา) ทำให้ผู้ใช้ PHTML Encoder คนอื่นๆ สามารถถอดรหัสสคริปต์ของตัวผู้ใช้เองได้ทั้งหมด
แต่เดิม PHTML Encoder ถูกพัฒนาภายใต้ชื่อ PHP Encoder แต่ภายหลังได้รับคำร้องขอจาก PHP Group ให้เปลี่ยนชื่อ จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ PHTML Encoder จนถึงปัจจุบัน